Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ การจมน้ำ ในเด็กและวัยรุ่น

           การจมน้ำ นับเป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในเด็ก แม้กระทั่งในกรุงเทพที่ไม่ค่อยพบแหล่งน้ำตามธรรมชาติ  โดยพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือเด็กเล็กวัยเริ่มหัดคลานหัดเดิน และเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศชาย  ซึ่งสาเหตุก็จะต่างกันไปตามกลุ่มอายุ  แต่ที่น่าเสียดายคือ   สาเหตุที่ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการจมน้ำมักเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้

           การจมน้ำ ในเด็กโตและวัยรุ่นมักเกิดจากการเล่นในน้ำหรือว่ายน้ำ  การที่เด็กว่ายน้ำเป็น ไม่ได้เป็นข้อรับรองความปลอดภัยเสมอไป  โดยเฉพาะเมื่อเป็นแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคย หรือมีการดื่มสุราร่วมด้วย

           ส่วนการจมน้ำ ของเด็กเล็ก  สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากระดับพัฒนาการของเด็กเอง เช่นเป็นวัยที่ชอบสำรวจ  วิ่งเล่น แต่ความสามารถในการทรงตัวยังไม่ค่อยดีนัก พลัดตกหกล้มได้ง่าย  ส่วนความเสี่ยงอื่นๆเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ไม่มีรั้วกั้นอย่างถูกต้อง  ผู้ดูแลไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง  หรือผู้ดูแลต้องดูแลเด็กหลายคนในเวลาเดียวกัน

การจมน้ำ

การ ป้องกันเด็กจมน้ำ แบ่งตามช่วงอายุของเด็ก

           การป้องกันในเด็กเล็ก  เน้นย้ำให้ผู้ดูแล

เข้าใจพัฒนาการของเด็กตามวัย  เด็กเล็กที่เคลื่อนที่ได้  ตั้งแต่วัยเริ่มคลานก็สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำในบ้านเช่นห้องน้ำ  โถส้วม  กาละมัง  หรือบ่อปลาได้แล้วดูแลใกล้ชิด  ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำโดยลำพังแม้เพียงชั่วครู่เดียว จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย  ปิดประตูห้องน้ำ  กั้นรั้วแหล่งน้ำ  เทน้ำออกจากภาชนะทันทีที่ไม่ใช้แล้ว

           การป้องกันในเด็กวัยเรียน

  • สอนว่ายน้ำได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป  ในเด็กที่พร้อม
  • สอนให้เรียนรู้เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุแบบง่ายๆ ที่เหมาะสมกับวัย รวมทั้งตั้งกฏข้อห้ามต่างๆ เช่นห้ามลงน้ำโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย
  • สำรวจแหล่งน้ำในบ้านและละแวกบ้าน รวมถึงดัดแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันมิให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำโดยลำพังได้

           การป้องกันในเด็กโตและวัยรุ่น

  • สอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น
  • ใช้ชูชีพกรณีว่ายน้ำไม่เป็น หรือเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่เคยชิน  หรือแหล่งน้ำที่อาจมีอันตราย
  • สอนให้เด็กรับรู้ความเสี่ยง เช่น ไม่ดื่มสุรา ไม่กระโดดน้ำถ้าไม่แน่ใจในความลึกของน้ำ  เลิกเล่นน้ำหากเป็นตะคริว เป็นต้น
  • ฝึกทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR)

 การจัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย

  • สระว่ายน้ำ ควรมีรั้วกั้นที่เหมาะสม  รั้วควรสูงอย่างน้อย 4 ฟุต  โดยช่องว่างระหว่างซี่รั้วไม่ควรเกิน 4 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กลอดเข้าไปได้ รวมทั้งรูปแบบของรั้วต้องไม่เอื้ออำนวยให้เด็กปีนข้ามได้  และประตูมีกลอนล็อค หรือกลอนที่สูงเกินเด็กเอื้อมถึง
  • มีผู้ใหญ่ดูแลตลอดเวลาที่เด็กเล่นน้ำ  ถ้าเป็นเด็กเล็ก ต้องมีผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำเป็นอยู่ใกล้ในระยะแขนเอื้อมถึง  ถ้าเป็นเด็กโต ควรมีผู้ใหญ่มองดูอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะเป็นเด็กที่ว่ายน้ำได้แล้ว  และผู้ที่รับผิดชอบดูแลควรให้ความสนใจเต็มที่ตลอดเวลา ไม่ควรมีกิจกรรมอื่นมาดึงความสนใจไปจากเด็ก  และถ้าเป็นไปได้ ผู้ดูแลควรมีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือกู้ชีพในเด็กขั้นพื้นฐานด้วย
  • ควรจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่นห่วงชูชีพ และโทรศัพท์อยู่บริเวณสระน้ำ เผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
  • ระบบระบายน้ำของสระควรมีการป้องกันการที่แขนขา หรือผม ของเด็กจะเข้าไปติดตามท่อ เช่นมีฝาปิดที่เหมาะสม
  • เอาของเล่นออกจากสระน้ำเมื่อเลิกเล่นน้ำ  ป้องกันไม่ให้เด็กพยายามเดินไปหยิบ  และเพื่อให้มองเห็นสระน้ำชัดเจนตลอดเวลา

 

การลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ

  • ไม่ควรลงเล่นน้ำคนเดียว
  • สังเกตป้ายเตือน  ธงเตือน  และทำตามคำแนะนำตามป้าย
  • สังเกตลักษณะอากาศ และแหล่งน้ำ เช่นความแรงกระแสน้ำ คลื่น ก่อนลง
  • ไม่ลงเล่นน้ำหลังดื่มสุรา
  • เลือกเล่นน้ำบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ใกล้ๆ
  • ใส่เสื้อชูชีพตามความเหมาะสม และตระหนักว่าอุปกรณ์สูบลมอื่นๆ เช่น ห่วงยางไม่สามารถใช้แทนที่เสื้อชูชีพได้  และถึงแม้จะสวมเสื้อชูชีพแล้วก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลใกล้ชิดตลอดเวลาเช่นเดิม
  • ให้เด็กสวมเสื้อชูชีพที่มีขนาดที่เหมาะสม  ตลอดเวลาที่ต้องโดยสารเรือ หรือเมื่อเข้าใกล้แหล่งน้ำ

 

เด็กจมน้ำ, ป้องกันเด็กจมน้ำ, แนวทางการป้องกันการจมน้ำ

เด็กจมน้ำ, ป้องกันเด็กจมน้ำ, แนวทางการป้องกันการจมน้ำ

2019-09-17T15:57:43+00:00