Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

           ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมนุษย์ ก็คือ โรคหัวใจ   ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด  ยิ่งในยุคสมัยนี้ การดำรงชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่จะทำงานนั่งโต๊ะ  ขาดการออกกำลังกาย  กินอาหารจานด่วน  บางคนก็อ้วนพุงโต  เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทั้งสิ้น  ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆก็เช่น  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง  การสูบบุหรี่  มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่อายุน้อย  ถ้าผู้ใดมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบก็จะสูงไปด้วย  นอกจากนี้ อายุที่มากขึ้นก็จะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบมากขึ้นด้วย

ปัจจัยเสี่ยง (risk factors)

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้

  1. อายุที่มากขึ้น
  2. เพศชาย
  3. ประวัติของโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้

  1. เบาหวาน
  2. การสูบบุหรี่
  3. ไขมันในเลือดสูง
  4. ความดันโลหิตสูง
  5. อ้วนลงพุง
  6. ความเครียด

อาการแสดง

           อาการที่ชวนสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็คือ  อาการเจ็บแน่น เหมือนมีของหนักๆมาทับ ที่หน้าอกด้านซ้าย หรือตรงกลางหน้าอก  อาการเจ็บอาจร้าวไปที่แขนซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย  และมักจะมีอาการขณะออกแรง  หยุดพักแล้วดีขึ้น หรืออมยาขยายหลอดเลือดหัวใจแล้วดีขึ้น    แต่ในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน  อาจจะไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก  แต่จะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกแรง   เพราะเส้นประสาทรับความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักจะผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าเป็นเบาหวานอยู่เป็นเวลานาน และระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ไม่ดี

การตรวจวินิจฉัย ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงข้างต้น

วิธีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography)
  2. การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะเดินสายพาน (Exercise Stress Test)
  3. การตรวจดูการบีบตัวของหัวใจ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
  4. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์  โดยใช้สารเภสัชรังสี
  5. การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์  (MDCT), หรือเครื่อง MRI
  6. การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram)

ส่วนจะตรวจด้วยวิธีใดนั้น คงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ แล้วเลือกตรวจด้วยวิธีต่างๆที่กล่าวมาตามข้อบ่งชี้

การรักษา

           หลังจากการตรวจสอบเพิ่มเติมจนทราบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแน่ชัดแล้ว  ก็มาถึงขั้นตอนของการรักษา ซึ่งแบ่งได้เป็น  วิธีใหญ่ๆ คือ

  1. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (Lifestyle)
  2. ใช้ยากิน  ซึ่งได้แก่ ยาแอสไพริน (ยับยั้งการทำหน้าที่ของเกล็ดเลือด), ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ, ยาลดไขมันในเลือด, ยารักษาความดันโลหิตสูง  และยารักษาเบาหวาน (ถ้าเป็นร่วมด้วย)
  3. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และการใส่ขดลวด (PTCA)
  4. การผ่าตัด by pass หลอดเลือดหัวใจ  โดยใช้หลอดเลือดแดงในช่องอก(Internal mammary artery)  หรือหลอดเลือดดำที่ขา ของผู้ป่วยเอง
  5. การใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)  การรักษาด้วยวิธีนี้คงเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วยังไม่ดีขึ้น

           การรักษาวิธีที่ 2 คือการใช้ยานั้น จะเป็นการรักษาหลัก นั่นคือถึงแม้จะขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (PTCA)  หรือการผ่าตัด by pass แล้ว ก็ยังคงต้องกินยาต่อเนืองไปด้วย และจะต้องกินยาตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

           ขณะที่ได้รับการรักษาอยู่นั้น  ผู้ป่วยจำเป็นต้องแก้ไข หรือรักษาปัจจัยที่ส่งเสริมภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ นั่นคือ  ต้องหยุดสูบบุหรี่  รักษาโรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน  และไขมันในเลือดให้ปกติ  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง  ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที  ลดความอ้วน  เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว กล้ามเนื้อหัวใจของคุณก็จะลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงได้

2023-04-05T14:30:35+00:00