Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

ลูกนอนหลับ ….สนิทจริงหรือ??

ลูกนอนหลับ ….สนิทจริงหรือ??

           เป็นที่ทราบกันดีว่า การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับเจ้าตัวเล็กการพักผ่อนที่เพียงพอและมีคุณภาพยังมีผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ดีอีกด้วย  การพักผ่อนที่ดี คือการได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และใช้งานร่างกายให้น้อยที่สุด ในวัยเด็กก็คือการนอนหลับ  ส่วนการพักผ่อนที่มีคุณภาพ คือการพักผ่อนที่ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพราะออกซิเจนดังกล่าวจะช่วยให้สมองพัฒนาได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสร้างสารที่ช่วยกระตุ้นในการเจริญเติบโต ที่เราเรียกกันว่าฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) ทำให้เด็กๆเจริญเติบโตได้ตามวัย นอกจากนี้ยังมีผลต่อพัฒนาการทางด้านความคิดและความจำ

           เด็กในวัยต่างๆ จะมีความต้องการในการนอนหลับไม่เท่ากัน เช่นเด็กแรกเกิด จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันไปกับการนอนจะลืมตาขึ้นมาเมื่อหิว หรือร้องเมื่อผ้าอ้อมของหนูเลอะเทอะเท่านั้น ส่วนเด็กในวัยอนุบาล จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 8 – 10 ชั่วโมง เป็นต้น มีการศึกษาจากหลายสถาบันชั้นนำที่ยืนยันว่า เด็กที่ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอในช่วงวัยแรกเกิดถึงวัยก่อนเข้าเรียน  มีสมาธิสั้นกว่าเด็กที่นอนพักผ่อนเพียงพอ และจากการศึกษาเดียวกันยืนยันว่า   เด็กที่พักผ่อนได้อย่างมีคุณภาพยังมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีกว่าอีกกลุ่มอย่างชัดเจน

           นอกจากการเจ็บป่วยที่มีผลรบกวนการนอนหลับของเด็กๆ แล้ว ภัยเงียบที่ส่งผลให้การนอนของเด็กๆ ไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ นั่นก็คือ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น

           ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นภาวะที่ส่งผลให้ออกซิเจนเดินทางไปสู่สมองได้น้อยลง เกิดในช่วงเวลาหลับ หากระยะเวลายาวนานมากพออาจมีผลให้เกิดการหยุดหายใจชั่วขณะ  ในระยะยาว ย่อมมีผลต่อพัฒนาการของสมอง  ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการขัดขวางการไหลผ่านของออกซิเจนในขณะหลับ  เด็กบางคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้ง่าย  เช่น เด็กอ้วน, เด็กที่มีลิ้นโต, เด็กที่มีคางสั้น หรือมีความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้าแต่กำเนิด เป็นต้น

           เราสามารถสังเกตภาวะนี้ได้ง่ายๆ จากการกรน เพราะเป็นอาการอย่างหนึ่งของการอุดกั้นทางเดินหายใจ  ซึ่งอาการกรนดังกล่าวจะเกิดในเพียงบางท่าของการนอน ไม่ยาวนานมากพอที่จะส่งผลให้หยุดหายใจ  ดังนั้น การที่เด็กนอนกรนไม่ได้หมายความว่าเด็กหลับสนิท หรือหลับสบาย แต่ควรให้ความสำคัญในการสังเกตว่า การนอนกรนดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นได้หรือไม่  ลักษณะของการนอนกรนที่บ่งชี้ว่าอาจมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นร่วมด้วย ได้แก่

           อาการกรนเกิดขึ้นเกือบทุกครั้ง หรือทุกครั้งของการนอน

           1. กรนยาวนานกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่นอนหลับ

           2. กรนเสียงดังมาก

           3. มีอาการเหมือนหายใจขัด หรือต้องสะดุ้งตื่นระหว่างการนอนที่กรน

           4. ชอบนอนหายใจทางปาก

           5. ปลุกให้ตื่นนอนได้ยาก

           6. ปวดหัวในตอนเช้าหลังตื่นนอน แม้จะเข้านอนแต่หัวค่ำ

           7. มีภาวะง่วงหลับมากในตอนกลางวัน หรือในห้องเรียน

           8. อาการเหม่อลอย ไม่มีสมาธิ หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า

           9. การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

           การสังเกตอาการดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ทำได้ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งต้องอาศัยความต่อเนื่องในการสังเกต เพราะอาการใดเพียงอาการหนึ่ง คงไม่ได้เป็นตัววินิจฉัยว่าเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น แต่หากมีอาการดังกล่าว รุนแรง เป็นบ่อยครั้ง คงเป็นสัญญาณเตือนให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆของเราไปรับการตรวจเพิ่มเติม  เนื่องจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นในเด็กสามารถทำการรักษาได้หลายระดับ อาการเพียงเล็กน้อยสามารถใช้ยาพ่นในการรักษา อาการระดับปานกลางหรือรุนแรงอาจต้องใช้เครื่องเพิ่มแรงดันในการหายใจ แต่หากอาการรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

           ดังนั้นการวินิจฉัย และเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรค ทำให้สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เจ้าตัวน้อยของเราจะได้รับการรบกวนน้อยที่สุด อีกทั้ง  เพื่อให้การนอนหลับทุกครั้งของลูก เป็นการพักผ่อนที่ดี มีคุณภาพต่อการพัฒนาร่างกาย และจิตใจอย่างแท้จริง

ลูกนอนหลับ

 

พญ. พรระวี  เพลินธรรมคุณ

กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยา

 

2019-03-20T13:42:26+00:00