Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

ต้อกระจก

           ต้อกระจก คือภาวะการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของแก้วตาหรือเลนส์ตาจากที่เคยใสเป็นขุ่น แก้วตาทำหน้าที่ในการรวมแสงให้ตกบนจอประสาทตา เมื่อแก้วตาขุ่นทำให้แสงผ่านไปถึงจอประสาทตาลดลงและส่งผลกระทบต่อการรวมแสง

           สาเหตุของต้อกระจก สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะสูงอายุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความขุ่นของแก้วตาจะเพิ่มขึ้น สาเหตุรองลงมา คือ อุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น โดนกระแทก, ถูกของมีคม, โรคตาหรือโรคทางกาย เช่น การอักเสบในลูกตา, เบาหวาน และสาเหตุอื่น ซึ่งพบได้น้อย เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด

           อาการของต้อกระจก จะมีตามัวเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง มักมัวมากในตอนกลางวัน หรืออยู่ในที่มีแสงจ้าและเห็นชัดตอนกลางคืน, บางรายเห็นภาพซ้อน, หรืออาจมีสายตาสั้นและต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ ช่วงแรกใส่แว่นตาอาจเห็นชัดขึ้น แต่เมื่อแก้วตาขุ่นมากแม้ใส่แว่นก็ไม่ดีขึ้น และบางรายมีการเห็นสีเปลี่ยนแปลง ในรายที่จะเป็นต้อกระจกมากพบมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ต้อหิน

           การรักษา การใช้ยาหยอดตาอาจช่วยชะลอต้อกระจกในรายที่เป็นน้อยๆ แต่เมื่อแก้วตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดลงจนถึงขั้นเห็นแต่แสงลางๆ ได้ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อปรับสายตาให้เป็นปกติ

           การผ่าตัดต้อกระจก ก่อนผ่าตัดจะมีการหยอดยาชาหรือฉีดยาชาเพียงเล็กน้อย และผู้ป่วยแทบจะไม่รู้สึกเจ็บตลอดการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด

  1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบแผลใหญ่ ในกรณีที่ต้อกระจกสุกมีลักษณะขาวขุ่นเนื้อแข็งมาก ไม่สามารถสลายต้อกระจกได้ด้วยความปลอดภัย แพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้โดยผ่าตัดแผลใหญ่ ประมาณ 8-10 มม. เพื่อนำต้อกระจกออก เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้เพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่และเย็บแผลปิด
  2. การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูง  (Phacoemulsification)                                                                                     เป็นวิธีการรักษาที่ทันสมัย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 2.2-3.0 มม. โดยสอดเครื่องมือเข้าไปสลายต้อกระจกจนหมดและเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ใส่เลนส์ตาเทียม ซึ่งมักไม่จำเป็นต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ทำให้แผลมีความแข็งแรง, แผลหายเร็ว, ผู้ป่วยรู้สึกเคืองจากแผลน้อยและมีปัญหาสายตาเอียงจากการผ่าตัดน้อยกว่า 

           เลนส์แก้วตาเทียม เป็นวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งไม่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อของลูกตา ปัจจุบันมีเลนส์ตาเทียมแบบพับ ซึ่งสามารถใส่ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กได้โดยไม่จำเป็นต้องขยายแผลเพิ่ม มีให้เลือกทั้งชนิดโฟกัสเดียว หลายโฟกัส และเลนส์แก้ไขสายตาเอียง เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ในลูกตาจะมีอายุการใช้งานไปตลอดชีวิต หลังการผ่าตัด 4-6 สัปดาห์จะหายสนิทดี และผู้ได้รับการผ่าตัดจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานหนักได้ตามปกติ โดยไม่มีการเคลื่อนที่ของเลนส์ตาเทียม ยกเว้นจะได้รับอุบัติเหตุกระแทกที่ตารุนแรง อาจมีผลให้เลนส์เคลื่อนและการมองเห็นลดลงทันที

           การมองเห็นหลังผ่าตัด หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติหรือโรคของส่วนอื่นๆ ของตา, เส้นประสาทตา หรือสมองที่ควบคุมการมองเห็น และไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีการมองเห็นที่ดีขึ้นหลังการผ่าตัด ดังนั้น หากท่านรู้สึกว่าตามัวลง ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อจะได้รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

บทความโดยศูนย์จักษุ โรงพยาบาลเจ้าพระยา

 


 

ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644

2024-01-19T11:00:36+00:00