Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

ไวรัสตับอักเสบ ต้นเหตุของมะเร็งตับ

ไวรัสตับอักเสบ ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเจ้าพระยาพร้อมให้คำปรึกษาและรักษา

           ตับ เป็นอวัยวะสำคัญ ที่อยู่ในช่องท้องด้านขวา ทำหน้าที่สังเคราะห์สารอาหาร กำจัดพิษของยาเมตาโบไลท์ และช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย

           ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) คือ การที่ตับมีอาการอักเสบ และติดเชื้อ หากพูดถึงไวรัสตับอักเสบ คนส่วนใหญ่คงคุ้นหูกับ “โรคไวรัสตับอักเสบบี” เพราะพบบ่อยในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง AEC แต่ความจริงแล้วไวรัสตับอักเสบมีหลายสายพันธ์  ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ซึ่งไวรัสตับอักเสบดี และอี พบได้น้อยมากในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามโรคไวรัสตับอักเสบ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ จึงควรได้รับการตรวจรักษา เพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว

 

ไวรัสตับอักเสบ

         

 การติดเชื้อ และอาการของผู้ป่วยไวรัสตับเอกเสบ

ไวรัสตับอักเสบเอ

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ :

  • ติดจากการทานอาหารจากผู้ป่วย
  • การล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ
  • ดื่มน้ำที่มีเชื้อแฝงอยู่

*** ไวรัสตับอักเสบเอจะไม่ติดต่อทางน้ำลาย และปัสสาวะ ***

           อาการผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ : เป็นไข้ตัวร้อน ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แน่นบริเวณชายโครงด้านขวา ท้องร่วง อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม และมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

ไวรัสตับอักเสบบี

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี :

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • การใช้เข็มฉีดยา เข็มสักตามตัว และการเจาะหู รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน และที่ตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
  • การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ (ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)
  • การสัมผัสเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล

*** ไวรัสตับอักเสบบีจะไม่ติดต่อทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม การให้นม และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล) ***

           อาการผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี : แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  1. ระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือน หลังติดเชื้อ
    • มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องด้านชายโครงขวา
    • อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เป็นผื่น ปวดข้อ

           อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

  1. ระยะเรื้อรัง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
    • พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้นการแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยที่เป็นพาหะผลการตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • ตับอักเสบเรื้องรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ (การติดเชื้อแบบเรื้อรังมักพบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด)
    • ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ แต่ในบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหาร

ไวรัสตับอักเสบซี

           การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี : สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือการมีเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการให้นมบุตร และการไอ จามรดกัน

           อาการผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี : อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะมีการคล้ายกัน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง(หรือที่เรียกกันว่าดีซ่าน) มีปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ

           ทั้งนี้การที่จะแยกว่าอาการตับอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด ต้องทำการตรวจร่างกายโดยอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ภูมิที่แสดงถึงการติดเชื้อ ต่อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ และสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ โดยการไม่นำตัวเองไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามที่กล่าวมาข้างต้น และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไว้รัสตับอักเสบชนิดต่างๆ

2020-02-13T14:22:28+00:00