Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

สิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเมื่อ…ตั้งครรภ์

สิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเมื่อ… ตั้งครรภ์ ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ไว้

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หรือไม่ใหม่ทั้งหลายเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สิ่งแรกที่สุดที่คาดหวังกันทุกคนคือต้องการให้ลูกที่กำลังจะเกิดมานั้นมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เลยจนกระทั่งถึงวันคลอด ได้คลอดลูกอย่างปลอดภัย และอุ้มลูกกลับบ้านอย่างมีความสุขถ้วนหน้ากันทุกคน ความคาดหวังเช่นนี้มิได้เป็นความคาดหวังเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์เท่านั้น แต่เป็นความคาดหวังของทั้งคุณหมอคุณพยาบาลที่ร่วมดูแลครรภ์นั้นด้วยอย่างแน่นอน

ตั้งครรภ์

          แต่ทำไมจึงมีสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ได้เล่า ?

          ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ลองมาดูความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ทุกคนที่ตั้งครรภ์ ระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสที่จะแท้งลูกประมาณร้อยละ 10  ยิ่งอายุคุณแม่มากขึ้นเท่าไหร่โอกาสแท้งก็มากขึ้นตามไปด้วย เช่น ถ้าคุณแม่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสแท้งถึงร้อยละ 30 ทีเดียว

          เมื่อผ่านพ้นช่วง 3 เดือนไปแล้วโอกาสแท้งก็น้อยลง ทารกเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุครรภ์ แต่ทารกบางคนก็อาจจะเกิดภาวะการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ คือเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร พบได้ประมาณร้อยละ 2-10 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เมื่อถึงเวลาครบกำหนดคลอด จึงได้ทารกน้ำหนักน้อยกว่าปกติออกมา หรือทารกอาจมีน้ำหนักน้อยจากการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน ซึ่งพบได้ร้อยละ 5-10 ของการคลอด หรือการมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์พบได้ร้อยละ 8-10 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในระยะใกล้คลอดก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ห่างไกลจากวันครบกำหนดคลอดมากๆ ปัญหาก็จะตามมามาก เพราะทารกที่มีน้ำหนักน้อยมักจะมีปัญหาเรื่องการหายใจของทารกในระยะแรกเกิดได้มาก เป็นต้น

          ภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกแตก พบได้ร้อยละ 0.1-2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งแม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่มักจะเกี่ยวข้องกับการเสียเลือดจำนวนมากๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          ภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์อาจจะพบได้ที่ร้อยละ 1-7 ของการตั้งครรภ์ ยิ่งถ้ามีญาติใกล้ชิดเป็นเบาหวานโอกาสที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะตรวจพบว่ามีภาวะเบาหวานก็มากขึ้นตามไปด้วย ภาวะนี้ถ้าไม่ได้คุมน้ำตาลในเลือดแม่ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอาจจะทำให้ทารกมีน้ำหนักมากๆ ได้ และในช่วงแรกคลอดใหม่ๆ ทารกจะมีปัญหาเรื่องการหายใจเรื่องเกลือแร่ไม่สมดุลได้

          ภาวะความดันโลหิตสูงหรือครรภ์เป็นพิษ ในครรภ์แรกอาจพบได้ร้อยละ 6-17 และร้อยละ 2-4 ในครรภ์หลัง ภาวะนี้ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดีอาจรุนแรงขึ้นจนเกิดการชักกระตุกในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งแม่และลูกตามมา

          คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนอาจจะบอกว่าในระหว่างตั้งครรภ์สบายดีทั้งแม่ทั้งลูก ลูกดิ้นดีตลอด การเจริญเติบโตของลูกก็ดี ตอนคลอดก็ดี ออกมาก็ร้องดี ตัวแดงดี ส่วนคุณแม่ก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรที่หนักหนา อาจจะมีปวดหัวตัวร้อนท้องเสียบ้าง ก็น่าเรียบร้อยดีนี่นา แต่ทำไมถึงเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้? ใช่แล้วครับ ภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็นอีกภาวะหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการคลอดเอง หรือการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง พบได้ร้อยละ 2-11 ของการคลอด ภาวะนี้ทำให้มีการเสียเลือดจำนวนมากได้ กรณีที่เสียเลือดรุนแรงอาจจะพบได้ร้อยละ 0.1 ของการคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้

          การตั้งครรภ์เหมือนการผจญภัย ทางการแพทย์จะใช้คำว่า “ความเสี่ยง” เพื่อบอกภาวะการผจญภัยนั้นว่ามีมากน้อยเพียงไร ตัวอย่างเช่น คุณแม่ที่มีอายุมาก คือ มากกว่า 35 ปีขึ้นไป (เมื่อถึงวันครบกำหนดคลอด) จะมีความเสี่ยงต่อการมีบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ (เช่น กลุ่มอาการดาวน์) มากกว่าแม่ที่อายุน้อย คือถ้าแม่อายุ  35 ปี แม่มีความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมเท่ากับ 1:365 เมื่อเทียบกับแม่ที่อายุ 25 ปีจะมีความเสี่ยงเพียง 1:1,125 เป็นต้น นั่นหมายความว่าแม่ที่อายุน้อยก็ยังมีความเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมได้เช่นกัน เพียงแต่เสี่ยงน้อยกว่า และในเรื่องนี้เช่นกันคุณแม่ตั้งครรภ์มักจะได้รับรู้ว่าจะต้องมีการเจาะน้ำคร่ำ และเมื่อผลการเจาะน้ำคร่ำบอกว่าโครโมโซมเป็นปกติ ก็มักคิดเลยเถิดไปว่าลูกจะต้องไม่มีความผิดปกติใดๆ อีกแล้ว ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง เพราะยังมีความผิดปกติอื่นๆ อีกมากมายอาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครโมโซมว่าจะปกติหรือไม่

          ทำไมสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังจึงเกิดขึ้นได้ คำตอบคือ เพราะความจริงสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน เพียงแต่บางคนเสี่ยงมาก บางคนเสี่ยงน้อย ความเสี่ยงบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุมากขึ้น แต่หลายอย่างหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ เช่น ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน หรือไวรัสตับอักเสบ บี ก็ฉีดวัคซีนป้องกันเสียก่อน หรือเคยดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ก็งดเสีย ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะคาดหวังก็คือ ความจริงเป็นอย่างไร เราเรียนรู้ได้ และปฏิบัติตัวให้เหมาะสม หรือได้รับการดูแลที่ถูกต้องและทันท่วงที เท่านี้เราก็จะไม่ต้องตกอกตกใจกับสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวัง เพราะทุกอย่างเราได้คาดหวังให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว เราก็ไม่เป็นทุกข์ และมีความสุขกับการตั้งครรภ์ได้อย่างแน่นอน

บทความโดย

นพ.สมเกียรติ คูอมรพัฒนะ

สูตินรีแพทย์

 

2024-04-12T11:47:31+00:00