Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

โรคของหลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary artery disease)

 

         หัวใจของมนุษย์เป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดในร่างกาย คือ ทำงานตั้งแต่ยังไม่เกิด ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา และจะไม่มีโอกาสหยุดพักใด ๆ หลังจากเกิดขึ้นมาแล้ว พลังงานที่ได้ก็มาจากหลอดเลือดแดงของหัวใจ หลอดเลือดแดงของหัวใจนี้แยกออกจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เป็นส่วนที่หัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั้งหมดที่เรียกว่า Aorta และกระจายครอบหัวใจไว้ พร้อมทั้งส่งแขนงต่าง ๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ คล้ายกับเป็นมงกุฎที่ครอบลงไปในหัวใจ จนได้ชื่อว่าหลอดเลือดมงกุฎ (Coronary artery) คล้ายกับชาวนาไทยที่ส่งข้าวไปเลี้ยงคนทั้งประเทศ แต่ตนเองอาจมีข้าวที่เลี้ยงตัวเองน้อยนิด
          จากหลอดเลือดมงกุฎ ซึ่งแยกเป็นซ้าย ขวา ขนาดก็ประมาณหลอดกาแฟ 3 – 4.5 มิลลิเมตร แตกต่างจากการได้รับพลังงานของสัตว์ชนิดอื่น เช่น พวกสัตว์เลื้อยคลานจะได้รับพลังงานโดยตรงจากเลือดทั้งหมดที่มีอยู่ในห้องของหัวใจ (สัตว์เลื้อยคลานไม่มีหลอดเลือดมงกุฎสำหรับเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) เมื่อหลอดเลือดมงกุฎแคบลง ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน (O2) ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดอาการ เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกเมื่อออกกำลังกายหรือเกิดความเครียด หรือจากการใช้ยา หรือสาร กระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจวายหรือการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้

          สาเหตุ ที่ทำให้หลอดหัวใจตีบตันเร็วขึ้น มีสาเหตุแบ่งเป็น สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ ดังนี้

  1. สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม เพศ ซึ่งเพศหญิงจะพบน้อยกว่าเพศชาย หรือพบในอายุที่มากกว่าเพศชาย
  2. สาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น ไขมันในเลือดผิดปกติ เบาหวานที่ควบคุมได้ดี แรงดันโลหิตสูงที่รักษาให้ ถูกต้องและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ การไม่ให้น้ำหนักตัวที่เกินค่ามาตรฐาน BMI โดยทั่วไป BMI ของคนปกติอยู่ที่ 19 – 25 ในผู้ชาย และ 17-23 ในผู้หญิง การไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ (Second hand smoker)

          การรักษา การรักษาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันอย่าให้เกิดเร็ว โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาแล้ว หรือถ้ามีความสงสัยควรตรวจ Check ร่างกายโดยแพทย์ เพื่อที่จะได้ทราบว่าท่านเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือยัง ซึ่งแพทย์จะมีวิธีการตรวจจนได้คำตอบว่าเป็นโรคนี้หรือไม่

          การรักษาโดยทั่วไป แพทย์ก็ทำการรักษาโดยให้ยาเพื่อชะลอการเกิดหลอดเลือดตีบตันมากขึ้น โดยรักษาที่ต้นเหตุของการเกิด ให้ยาขยายหลอดเลือด ให้ยาที่บังคับไม่ให้หัวใจทำงานหนัก หรือเพิ่มขนาดหลอดเลือด โดยการขยายด้วยบอลลูน และใส่ขดลวด (Balloon angioplasty + stent) หรือทำการต่อหลอดเลือดที่ตีบตันให้ใหม่ (Coronary Artery Bypass Graft) เพื่อทำให้อายุของท่านยืนยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ถ้าได้ทราบตั้งแต่ต้น ๆ ว่าท่านมีโรคนี้อยู่ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าหาปมของโรคนี้หรือยัง ซึ่งวิทยาการสมัยใหม่อาจจะไม่ต้องไปถึงการฉีดสี (Coronary Angiography) เราอาจจะใช้เครื่องมือที่ไม่ต้องทำให้บาดเจ็บ เช่น Coronary Calcium Score คือ การตรวจหาค่าของ Calcium ที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ

  • Exercise Stress test คือ การออกกำลังกายพร้อมการดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพหัวใจ
  • Stress echocardiography คือ การดูการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ก่อนและเมื่อออกแรง
  • Magnetic resonance cardiac imaging คือ การใช้คลื่นแม่เหล็กของหลอดเลือดหัวใจและดูการทำงานของหัวใจ ดูการส่งเลือดเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ

          ซึ่งจะได้ข้อมูลสำหรับหลอดเลือดหัวใจเป็นแนวทางในการรักษาตั้งแต่ต้นๆ และเป็นการวางแผนเผื่อ ต้องไปทำที่เรียกว่า Invasive Investigation คือ การสวนหัวใจ

ส่วนการรักษา เราแบ่งเป็น 2 ระดับ

  1. การใช้ยาเพื่อควบคุม การเต้นของหัวใจ การให้ยาต้านเกล็ดเลือด, การให้ยาลดความดัน, การรักษาเบาหวานให้มีประสิทธิภาพดี, การให้ยาลดไขมันในเลือด
  2. การรักษาแบบ Intervention โดยกาแทรกหลอดเลือดเดิม
    • การรักษาโดยใช้ Balloon ให้ไปถ่างหลอดเลือดและใส่ขดลวด (Stent)
    • การทำสะพานเชื่อมเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนที่ต่อจากหลอดเลือดตีบ ที่เรียกว่า Coronary Artery Bypass Graft

 

 

บทความโดย

พล.ต.ท.นพ.นุกูล เจียมอนุกูลกิจ

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด

แพทย์ประจำศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเจ้าพระยา

2024-02-22T13:29:27+00:00