Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

มะเร็งเต้านม กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

           ด้วยหลักคิดแนวการแพทย์แผนใหม่ เน้นการป้องกันและการเดินหน้าเชิงรุก ตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ยังไม่ลุกลาม  ร้ายแรง ทำให้เกิดคำถามว่า โรคร้ายกาจอย่าง “มะเร็ง” สามารถทำนายล่วงหน้า เพื่อการป้องกันไม่ให้มะเร็งเกิดขึ้นได้หรือไม่

  • เกิดมากับมะเร็ง

           หลายคนบอกว่า เกิดมาพร้อมกับมะเร็ง เป็นบาปที่ติดมาตั้งแต่เกิด ตระกูลนี้เป็นมะเร็งมาหลายชั่วคนอย่างไรเสียก็ต้องเสียชีวิตด้วยมะเร็ง เพราะมะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรม…เป็นมะเร็งทั้งตระกูล แม้มะเร็งเต้านมยังไม่เว้นแม้แต่ผู้ชาย

           ในความเป็นจริง มะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรมจริง หากแต่ไม่จำเป็นต้องเป็น “ทุกคน” เนื่องจากการสืบทอดพันธุกรรมนั้น เกิดจากพ่อและแม่อย่างล่ะครึ่งหนึ่ง โดยส่งผ่านโครโมโซมจากพ่อและแม่มายังลูก ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นมะเร็งทางพันธุกรรม คือ 50:50 แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงส่งต่อการสืบต่อยีนมะเร็งทางพันธุกรรมก็ตามและในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด จำนวนผู้ป่วยที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นมีเพียงไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น หมายความว่าในผู้ป่วยมะเร็ง 10 คน มีผู้ป่วยจากการ “เกิดมากับมะเร็ง” เพียงรายเดียว นอกนั้นเป็นมะเร็งจากปัจจัยอื่น

  • ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็ง

ปัจจัยที่มีผลต่อมะเร็งอาจสรุปให้เห็นภาพง่าย ได้ดังนี้

มะเร็งเต้านม

 

  • การทำนายมะเร็งร้ายในตัวคุณ  การทำนายมะเร็งในบุคคลทั่วไปหากจะยึดตามหลักการที่สมาคมมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Society) แนะนำ เราสามารถทำนายมะเร็งได้โดยดูจากอาการและอาการแสดงเหล่านี้
  1. มีเลือดหรือสารคัดหลั่งออกผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจากหัวนม ช่องคลอด ปะปนในอุจจาระหรือปัสสาวะ
  2. แผลไม่หายใน 2 สัปดาห์ มีขนาดโตขึ้น เจ็บปวด หรือมีเลือดออก
  3. การขับถ่ายผิดปกติ ทั้งความถี่และรูปแบบการขับถ่าย
  4. มีก้อนในที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย
  5. อาการไอเรื้อรัง ร่วมมีเสียงแหบ เสี่ยงเปลี่ยน ไอไม่หาย มีเสมหะปนเลือดออกมา
  6. ไฝหรือกระที่มีการเปลี่ยนแปลง มีขอบเขตรูปร่างไม่ชัดเจน ขอบขรุขระหรือมีสีเปลี่ยน
  7. การกลืนลำบาก รู้สึกมีก้อนที่ขัดขวางการกลืนหรือรับประทานอาหาร

           อาการแสดงออกและความผิดปกติดังที่กล่าวมา ถือว่าเป็นแนวทางในการทำนายมะเร็ง แต่การทำนายมะเร็งด้วยวิธีการเหล่านี้ มีข้อเสียคือ เมื่อมีสัญญาณต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น มักพบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปแล้ว ไม่สามารถใช้ทำนายมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ และบางครั้งมะเร็งที่พบเป็นมะเร็งที่ลุกลามสู่ระยะที่สองหรือระยะที่สามแล้วจึงไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

           ดังนั้นแนวความคิดในการทำนายมะเร็ง อาจจะต้องกลับมาพิจารณาที่สาเหตุของการเกิดมะเร็ง เพื่อให้ได้ผลแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งทางการแพทย์พบว่าปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็งมีด้วยกันสองประการคือ

  1. มะเร็งเกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้

ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่แต่ละบุคคลรับเข้ามาภายหลัง จากสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การขาดการออกกำลังกาย ความเครียด การติดเชื้อไวรัสบางตัว รวมทั้งการได้รับสารก่อมะเร็งซึ่งมีมากมายหลายพันชนิด ซึ่งกลุ่มนี้นับเป็นสัดส่วนร้อยละ 90-95 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

  1. มะเร็งเกิดจากปัจจัยภายในที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยภายในเหล่านี้ ได้แก่ มะเร็งที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 -10 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด (ทุกประเภทรวมกัน)

 

มะเร็งเต้านมกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

  • มะเร็งเต้านมกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

           ปัจจุบันมีผู้เป็นมะเร็งเต้านมในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้การมียีนผิดปกติแผ่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่เครือญาติ ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือเครือญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า ดังนั้น ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัวจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นมะเร็งเต้านม

           ตัวอย่างสัดส่วนของมะเร็งถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมะเร็งจากปัจจัยภายนอก

  • ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

มะเร็งเต้านม

 

  • ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านมในฝาแฝด

มะเร็งเต้านม

 

           เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ล่ะปีมีประมาณ 6,000-8,000 ราย  ในจำนวนนี้มีร้อยละ 5-10 ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หมายถึงผู้ป่วย 300-800 ราย ในแต่ละปีป่วยด้วยมะเร็งเต้านมทางพันธุกรรม และจะมีผู้หญิงใน 300-800 ครอบครัว มีโอกาสได้รับยีนมะเร็งเต้านมจากมารดาทุกปี  ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม หากแต่มีโอกาสรับมาร้อยละ 50

           จะเห็นว่าการถ่ายทอดยีนมะเร็งเต้านมพันธุกรรมเป็นประเด็นที่ควรพิจารณา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดยีนมะเร็งจะต้องป่วยด้วยมะเร็งเต้านมทุกราย โอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมเมื่อรับยีนมะเร็งมามีประมาณร้อยละ 80

           จากตัวอย่างของมะเร็งเต้านมจะเห็นได้ว่า เราสามารถแบ่งกลุ่มของการเกิดมะเร็งได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มียีนมะเร็ง (ร้อยละ 5-10) กับกลุ่มที่ไม่มียีนมะเร็ง แต่ทั้งสองกลุ่มสามารถอาศัยการตรวจทำนายมะเร็งเพื่อการพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ ในรูปแบบเดียวกันได้ หากแต่ในกลุ่มที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการถ่ายทอดเชื้อมะเร็งพันธุกรรม จำเป็นจะต้องตระหนักในความเสี่ยงของตัวเอง ที่อาจเกิดมะเร็งขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นการตรวจคัดกรองหามะเร็งในรูปแบบต่างๆ หรือการตรวจหาความเสี่ยงใดก็ตามจำเป็นต้องได้รับเมื่ออายุยังน้อย จากที่ผ่านมามีกรณีศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจากพันธุกรรมพบเกิดในวัยรุ่นอายุ 18 ปี เท่านั้น

           ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งในครอบครัวที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้ ควรใส่ใจในการเข้ารับการตรวจหามะเร็งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากมะเร็งยิ่งตรวจพบได้ในระยะแรกๆ มีโอกาสรักษาหายได้ ในบางชนิดสามารถบอกได้ว่า รักษาหายขาดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาทิ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

           กลุ่มที่เป็นมะเร็งซึ่งถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ จะมีข้อบ่งชี้ที่แตกต่างจากกลุ่มทั่วไปที่พอสังเกต คือ

  1. สมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยๆ (น้อยกว่า 40 ปี)
  2. มีผู้ป่วยมะเร็งหลายคนในครอบครัวเดียวกัน (2-3 คนขึ้นไป)
  3. เป็นมะเร็งเต้านม 2 ข้าง (ตามปกติมะเร็งเต้านมจะเกิดเพียงข้างเดียว)
  4. พบมะเร็งเต้านมในผู้ชาย

           ตัวอย่างการตรวจมะเร็งที่เต้านมในเพศหญิง

 

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์

2020-08-05T14:48:56+00:00