Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาเข้าวุ้นตา

การฉีดยาเข้าวุ้นตา

          เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาโรคในดวงตาดีขึ้นกว่าในอดีตมาก การฉีดยาเข้าวุ้นตา สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับจอตา ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดผิดปกติที่จอตา และจอตาบวมจากสาเหตุต่างๆ เช่น จุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา หลอดเลือดต่ำที่จอตาอุดตัน เป็นต้น โดยยาฉีดเข้าวุ้นตา ออกฤทธิ์ไปยับยั้งการเจริญเติบโตของหลอดเลือดผิดปกติ ช่วยลดการรั่วซึมของผนังหลอดเลือด และลดการบวมของจอตา บริเวณจุดภาพชัด จึงช่วยให้ระดับการมองเห็นดีขึ้น

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนฉีดยา

  1. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันฉีดยา ทานยาโรคประจำตัวตามปกติ ไม่ต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือด
  2. วัดสายตาเบื้องต้น วัดความดันตาและวัดความดันโลหิต
  3. หยอดยาขยายม่านตาข้างที่ฉีดยาหรือตามคำสั่งแพทย์
  4. พบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจตา
  5. รับฟังคำอธิบาย ขั้นตอนการฉีดยาเข้าวุ้นตา
  6. ผู้ป่วยเซ็นชื่อยินยอมรับการรักษาโดยการฉีดยาเข้าวุ้นตา พร้อมพยานเซ็นรับทราบ
  7. พยาบาลหยอดยาชาข้างที่จะรับการฉีดยา

การปฏิบัติตัวขณะฉีดยา

  1. จักษุแพทย์จะทำการฉีดยาเข้าวุ้นตาโดยวิธีการปราศจากเชื้อ เริ่มจากทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณเปลือกตาข้างที่จะฉีดจากนั้นคลุมหน้าด้วยผ้าปราศจากเชื้อ
  2. ผู้ป่วยนอนบนเตียงนิ่งๆ ห้ามเอามือจับผ้าที่คลุมหน้า
  3. แพทย์จะฉีดยาเข้าที่บริเวณเนื้อเยื่อตาขาวห่างจากขอบตาดำประมาณ 3- 4 มิลลิเมตร
  4. ขณะแพทย์ฉีดยา ให้กลอกตาตามที่แพทย์บอกไม่ควรบีบตา หรือกลอกตาไปมา ควรให้ตาอยู่นิ่งที่สุด
  5. หลังฉีดยา ผู้ป่วยบางรายจะได้รับการปิดตาตามแพทย์สั่ง และสามารถเปิดตาได้เมื่อกลับถึงบ้าน

การปฏิบัติตัวหลังฉีดยาเข้าวุ้นตา

          หลังการฉีดยาเข้าวุ้นตาผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อดวงตา และผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. หยอดยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อในตา
  2. ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาข้างที่ฉีด เป็นเวลา 3 วัน หากต้องการทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดหน้าได้ ไม่ควรขยี้ตา
  3. สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ตามัวลง ตาแดง มีขี้ตามากขึ้น ให้มาพบแพทย์ก่อนวันนัด
  4. มาตรวจตามแพทย์นัด

 

การฉีดยาเข้าวุ้นตามีความเสี่ยงหรือไม่?

          ภาวะแทรกซ้อนหลังการฉีดยาเข้าวุ้นตานั้นมีโอกาสเกิดน้อยมาก อาจมีจุดเลือดออกที่เยื่อบุตาในบริเวณที่ฉีดยา ซึ่งจะจางและหายไปในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และหลังจากการฉีดยาบางชนิดเข้าวุ้นตา ผู้ป่วยอาจมองเห็นเงาของตะกอนยา และวุ้นตาเป็นจุดดำลอยไปมา อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อตะกอนยาละลายหมดในช่วง 1-2 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจะมีน้อย เช่น ติดเชื้อในตา เลือดออกในวุ้นตา หรือจอตาลอก หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติภายหลังการฉีดยา เช่น ตามัวลง ปวดตา ตาแดง หรือมีขี้ตา ควรรีบมาพบจักษุแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดหมาย

 


 

ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644

2023-04-24T11:03:28+00:00