Language : | |
Call : 02-434-1111, 02-884-7000

การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดน้ำวุ้นตา

          จอประสาทตา เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่ช่วยในการมองเห็น และมีโรคทางจอประสาทตาค่อนข้างมาก ซึ่งต้องอาศัยการผ่าตัดรักษาจอประสาทตาด้วยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตา

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดจอประสาทตา

  1. เป็นโรคจอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก
  2. โรคจอประสาทตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง เช่น ในคนที่เป็นเบาหวานขึ้นจอตา
  3. จุดรับภาพที่จอประสาทตาเป็นรู (Macular hole)
  4. พังผืดที่จุดรับภาพ
  5. เลือดออกในน้ำวุ้นตา
  6. มีการติดเชื้อในลูกตาและน้ำวุ้นตา หรือการอักเสบในน้ำวุ้นตา
  7. มีสิ่งแปลกปลอมในลูกตาส่วนหลังจากอุบัติเหตุ เช่น เศษเหล็ก เศษแก้ว
  8. เลนส์ตาหรือเลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อนไปลูกตาส่วนหลัง

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

  1. ทานยารักษาโรคประจำตัวของตนเองได้ตามปกติ ยกเว้นยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดอื่นๆ ต้องงดก่อนผ่าตัด 7 วันหรือตามแพทย์สั่ง
  2. หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลหรือแพทย์เจ้าของไข้ทราบก่อนผ่าตัด
  3. ควรสระผมให้สะอาดก่อนวันผ่าตัด
  4. ในวันที่ผ่าตัด ให้ล้างหน้า และห้ามทาครีมหรือโลชั่นที่ใบหน้า ห้ามใช้เจลทาผม และให้ถอดเครื่องประดับทุกชนิด และฟันปลอมก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  5. ผู้ป่วยจะได้รับการทำความสะอาดในตาข้างที่จะผ่าตัด โดยการเช็ดตาและหยอดยาขยายม่านตา
  6. ถ้าการได้ยินไม่ดี ควรนำเครื่องช่วยฟังเข้าห้องผ่าตัดด้วย
  7. ถ้าปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ควรใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเข้าห้องผ่าตัด (กรณีผ่าตัดแบบไม่ดมยาสลบ)
  8. ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ดมยาสลบ การระงับความรู้สึกเฉพาะที่จะใช้ยาชาฉีดเข้าไปด้านหลังลูกตา โดยผู้ป่วย สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่หากผู้ป่วยที่ต้องดมยาสลบ ให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด หรือตามแพทย์สั่ง
  9. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันผ่าตัด

การผ่าตัดจอประสาทตา มีความเสี่ยงหรือไม่ ?

          ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดจอประสาทตา สามารถลดโอกาสการเกิดขึ้นโดยการปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  1. ความดันลูกตาสูงหรือต่ำผิดปกติ หลังผ่าตัด
  2. เกิดต้อกระจกหลังผ่าตัด
  3. จอประสาทตาหลุดลอกซ้ำ
  4. เลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อน
  5. ลูกตาติดเชื้อหลังผ่าตัด
  6. เลือดออกในวุ้นตา

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

  1. ควรปิดที่ครอบตาเสมอ ยกเว้นเวลาหยอดตาหรือทำความสะอาดตา
  2. ในกรณีที่มีการฉีดแก๊สหรือน้ำมันซิลิโคนเข้าไปในช่องน้ำวุ้นตา ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในท่านอนคว่ำ หรือนั่งก้มหน้า อย่างน้อย 16-18 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามคำสั่งการรักษาของแพทย์
  • กรณีฉีดแก๊สเข้าไปในช่องวุ้นตานั้น แก๊สจะค่อยๆ สลายตัวจนหายไป ภายใน 2-6 สัปดาห์ ขึ้นกับชนิด และความเข้มของแก๊ส
  • กรณีใส่น้ำมันซิลิโคนเข้าไปในช่องน้ำวุ้นตา ต้องมีการผ่าตัดซ้ำ เพื่อนำเอาน้ำมันซิลิโคนออกแต่ในบางราย แพทย์อาจพิจารณาปล่อยทิ้งไว้ในลูกตา แล้วแต่ภาวะโรคของผู้ป่วย
  1. การดูแลรักษาและทำความสะอาดตา
  • การเช็ดทำความสะอาดตาให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ ที่ได้รับจาก รพ.เช็ดบริเวณรอบดวงตา ห้ามกดลูกตามหรือเช็ดในลูกตาเด็ดขาด และก่อนเช็ดให้ล้างมือได้สะอาดทุกครั้ง ห้ามทาครีมหรือโลชั่นที่หน้า

* การครอบตา ทาง รพ.จะมีที่ครอบตาให้ผู้ป่วยภายหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันการกระแทกหรือเผลอขยี้ตา โดยให้ครอบทุกครั้งในตอนนอน สำหรับการทำความสะอาดที่ครอบตา ให้ล้างที่ครอบตาด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด หรือใช้น้ำเกลือที่เช็ดตานำมาเช็ดที่ครอบตา แล้วเช็ดให้แห้งด้วยสำลีหรือผ้าสะอาด ก่อนนำมาใช้งาน ควรเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละครั้ง ส่วนในเวลากลางวัน ผู้ป่วยอาจใส่แว่น แทนการใส่ที่ครอบตาได้

  • การหยอดยา ก่อนหยอดยาที่ตาผู้ป่วยทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด ให้ผู้ป่วยเอนตัวไปด้านหลังเหลือบตามองขึ้นบนให้ตึงเปลือกตาล่างและหยอดยา โดยยาแต่ละตัว ควรหยอดห่างกัน 5-10 นาทีหากเป็นยาป้ายหรือขี้ผึ้ง ควรใช้หลังสุด และไม่ควรใช้ยาเกิน 1 เดือนหลังเปิดขวดยา
  1. การอาบน้ำในหนึ่งเดือนแรก ผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังขณะอาบน้ำ โดยระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตา
  2. การดูแลเรื่องอาหาร ผู้ป่วยสามารถทานอาหารได้ตามปกติ หรือควบคุมอาหารตามโรคประจำตัวเดิมที่มีอยู่
  3. ในกรณีที่มีการหยุดยาละลายลิ่มเลือดหรือยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดอื่นๆ ก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดวันแรกสามารถกลับมาทานยาได้ตามปกติ
  4. การทำงานในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังผ่าตัด ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยกของ แบกหาม การก้มศีรษะมากๆ การเบ่งไอจามแรงๆ
  5. การออกกำลังกาย ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่น้ำมันซิลิโคนหรือแก๊สสามารถที่จะออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น การเดิน แต่ไม่ควรวิ่ง ยกน้ำหนัก หรือว่ายน้ำ ส่วนในผู้ป่วยที่ใส่น้ำมันชิโคนหรือแก๊ส ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
  6. ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่แก๊สไว้ในตา ไม่ควรเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือขึ้นภูเขาสูงหลังผ่าตัด จนกว่าแก๊สจะหมดเพราะการขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว จะทำให้แก๊สขยายตัว ทำให้ตามัว ปวดตามาก หรือเกิดเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดเลือดได้ และหลังการผ่าตัดใส่แก๊สในตา ถ้าจำเป็นต้องได้รับการดมยาสลบ (ในการทำผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่นๆ) ต้องแจ้งวิสัญญีแพทย์ทุกครั้งว่ามีแก๊สในตา
  7. ควรมาพบแพทย์ที่ทำการรักษาตามนัด

 


 

ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลโดย

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง
ชั้น 2 โรงพยาบาลเจ้าพระยา
เวลาทำการ : ตรวจรักษาและดูแลดวงตา ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร : 02-022-7644

2023-04-25T15:46:05+00:00